13 เหตุการณ์สำคัญ การเลือกตั้งไทย
การเลือกตั้งใหญ่ 2566 กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่หากย้อนกลับไปกว่า 91 ปี ประเทศไทยมีการจัดการเลือกตั้งใหญ่มาแล้วกว่า 26 ครั้งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ไทยพีบีเอสรวบรวม “13 เหตุการณ์สำคัญ” ที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศ มีเหตุการณ์ไหนที่เป็นที่จดจำกันบ้าง ไปดูกัน...
15 พฤศจิกายน 2476
เป็นการเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทย โดยเป็นการเลือกตั้งแบบทางอ้อม ประชาชนใช้สิทธิเลือกผู้แทนตำบล จากนั้นผู้แทนตำบลไปทำการเลือกตั้ง ส.ส.แทนประชาชน โดยกำหนดให้ประชาชนที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ การเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 4,278,231 คน แต่มีผู้มาใช้สิทธิราว 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.45 และได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น 78 คน
7 พฤศจิกายน 2480
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ของประเทศไทย ถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในเขตของตัวเองได้โดยตรง โดยใช้หลักการคำนวณ ประชากร 100,000 คน ต่อผู้แทนราษฎร 1 คน มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 6,123,239 คน และผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 2,462,535 คน จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดคือ จังหวัดนครนายก คิดเป็นร้อยละ 80.80 และจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุดคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็นร้อยละ 22.24 โดยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 91 คน
12 พฤศจิกายน 2481
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 3 ของประเทศไทย โดยมีการประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2481 ซึ่งเป็นการยุบสภาครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่ในสภา จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 6,310,172 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 2,210,332 คน ใช้หลักการคำนวณจำนวนผู้แทนราษฎร จากประชากร 2000,000 คน ต่อ ส.ส. 1 คน รวมได้ ส.ส.ทั้งสิ้น 91 คน
29 มกราคม 2491
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 5 ของประเทศไทย เป็นครั้งแรกที่ใช้วิธีเลือกตั้งแบบ “รวมเขตเรียงเบอร์” โดยถือเอาจังหวัดหนึ่งเป็นเขตการเลือกตั้งหนึ่ง จำนวนผู้แทนราษฎรในแต่ละจังหวัด คำนวณจากจำนวนประชากร 200,000 คน ต่อผู้แทนราษฎร 1 คน ทำให้มีจำนวนผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งนี้จำนวน 99 คน การเลือกตั้งครั้งนั้นมีผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 7,176,891 คน และมีผู้มาใช้สิทธิราว 2,117,474 คน ผลการเลือกตั้งออกมาว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. ไป 53 ที่นั่ง และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในเวลาต่อมา
26 กุมภาพันธ์ 2500
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 7 ของประเทศไทย มีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งราว 5,668,566 คน แต่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ “ไม่โปร่งใส” มากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใส อาทิ การที่หน่วยเลือกตั้งหลายแห่งไม่มีกรรมการมาประจำหน่วย มีบุคคลบางกลุ่มได้อภิสิทธิ์ในการลงคะแนนได้คนละหลายครั้งและครั้งละหลาย ๆ บัตร มีการทำร้ายผู้ออกเสียงเลือกตั้ง มีการแจกใบปลิวโจมตี และเมื่อปิดหีบแล้วมีการเอาบัตรลงคะแนนที่เตรียมไว้ใส่เข้าไป หรือที่เรียกว่า “ไพ่ไฟ”
การเลือกตั้งดังกล่าว พรรคเสรีมนังคศิลา ที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้การสนับสนุน ได้จำนวน ส.ส.ไป 83 คน แต่ภายหลังเกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชน จนมีการเดินขบวนคัดค้านการเลือกตั้ง ต่อมาเกิดการรัฐประหาร โดยคณะทหารซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำ ส่งผลให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำรัฐบาล ต้องพ้นจากตำแหน่งไป
22 มีนาคม 2535
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 16 ของประเทศไทย กำหนดให้มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ทั้งหมด 360 คน โดยใช้การเลือกตั้งโดยตรงแบบผสม เขตละไม่เกิน 3 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนต้องสังกัดพรรคการเมือง นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่มี “องค์กรกลาง” ทำหน้าที่ดูแลควบคุมการเลือกตั้ง มีผู้มาใช้สิทธิราว 19,622,322 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 31,660,156 คน คิดเป็นร้อยละ 58.26
ผลการเลือกตั้ง 5 พรรคการเมือง อันประกอบด้วย พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ได้รวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลด้วยคะแนนเสียง 195 เสียง แต่ได้มีการเสนอชื่อ พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
หลังจากพลเอกสุจินดา คราประยูร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นาน ได้ถูกคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก เนื่องจากมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนนำไปสู่การชุมนุมทางการเมือง หรือที่เรียกกันว่า “พฤษภาทมิฬ” ต่อมา พลเอกสุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ก่อนจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในเวลาต่อมา
13 กันยายน 2535
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 17 ของประเทศไทย เกิดขึ้นภายหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มเติมให้ “นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.” การเลือกตั้งครั้งนี้ มีไฮไลต์สำคัญคือ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สละตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย มาก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ ภายใต้ชื่อ “พรรคชาติพัฒนา” และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค
มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งราว 19,760,377 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 31,855,156 คน ผลการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส.79 คน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ และพรรคกิจสังคม รวม 207 เสียง ส่งผลให้ “ชวน หลีกภัย” ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 ของประเทศไทย
6 มกราคม 2544
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 20 ของประเทศไทย นัยยะสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งมีระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน โดยแบ่ง ส.ส. เป็นแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีก 400 คน
นอกจากนี้ ยังเป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ ก.ก.ต. เป็นผู้ควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว พรรคไทยรักไทย (ซึ่งเป็นพรรคเดียวที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครบทั้ง 400 เขต) สามารถกวาดที่นั่ง ส.ส. ไปได้ 247 ที่นั่ง ส่งผลให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ในฐานะหัวหน้าพรรค ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย
2 เมษายน 2549
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 22 ของประเทศไทย มีประชาชนผู้มีสิทธิราว 44.9 ล้านคน และออกมาใช้สิทธิราว 29 ล้านคน คิดเป็น 64.77% แต่ต่อมา การเลือกตั้งถูกยกให้เป็น “โมฆะ” เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 2 เหตุผล คือ
1. การกำหนดวันเลือกตั้งไม่ถูกต้อง และไม่เที่ยงธรรม เนื่องจากวันเลือกตั้งที่ถูกกำหนดขึ้นนั้น ห่างจากการยุบสภาเพียง 35 วัน และ 2. เนื่องจาก กกต.กำหนดการจัดคูหาเลือกตั้งในลักษณะที่บุคคลภายนอกสามารถสังเกตเห็นได้ว่าผู้เลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งหมายเลขใด
จากเหตุผลดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพิกถอนการเลือกตั้ง โดยถือเป็นการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะครั้งแรกของประเทศ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในเวลานั้น ได้ยื่นเรื่องร้องเรียน กกต.ว่า พรรคไทยรักไทย จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็ก ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
ผลสุดท้าย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ในข้อกล่าวหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค รวม 111 คน นาน 5 ปี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2550
23 ธันวาคม 2550
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 23 ของประเทศไทย เป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยมีความเปลี่ยนแปลงไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อน ๆ เช่น จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเดียวหลายคน โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตเดียวหลายคนทั้งประเทศจำนวน 400 คน รวมกับการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยกำหนดให้กลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 8 กลุ่มจังหวัด และแต่ละกลุ่มจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เพียง 10 คน รวมเป็น 80 คน นอกจากนี้ยังเปลี่ยนมานับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง แทนสถานที่นับคะแนนผลการเลือกตั้งกลาง
การเลือกตั้งครั้งดังกล่าว มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 44,002,593 คน โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิราว 32,792,246 คน ผลการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชนกวาดที่นั่ง ส.ส.ไป 233 ที่นั่ง “สมัคร สุนทรเวช” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศ แต่ผ่านไปราว 8 เดือน นายสมัครถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสิ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการจัดรายการ “ชิมไป บ่นไป” และ “ยกโขยง หกโมงเช้า” ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551
3 กรกฎาคม 2554
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 24 ของประเทศไทย เป็นการเลือกตั้งภายหลังนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภา โดยกำหนดให้มีสมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน มาจากการแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 375 คน และแบบบัญชีรายชื่ออีกจำนวน 125 คน ผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งในสภาไป 265 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรในสภา 500 คน ทำให้ได้จัดตั้งรัฐบาล โดยหัวหน้าพรรค “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
2 กุมภาพันธ์ 2557
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 25 ของประเทศไทย เป็นการเลือกตั้งที่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นหลายประการ ส่วนหนึ่งเกิดการชุมนุมเคลื่อนไหวขัดขวางการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง จนนำมาซึ่งการปะทะกันระหว่างกลุ่มไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งกับกลุ่มผู้ต้องการใช้สิทธิ
ภายหลังผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการเลือกตั้งไม่ได้กระทำเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร และไม่มีผู้สมัครลงเลือกตั้งถึง 28 เขต ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ กกต. ยังดำเนินการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งขัดต่อหลักการลงคะแนนลับ
ผลศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ด้วยเสียงข้างมากจำนวน 6-3 เสียง เห็นว่า การเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการเลือกตั้งโมฆะที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองของการเลือกตั้งประเทศไทย โดยการเลือกตั้งครั้งนั้นสูญเงินไปกว่า 2,400 ล้านบาท
24 มีนาคม 2562
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 26 ของประเทศไทย เป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดรูปแบบการได้มาของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบใหม่ โดยให้สิทธิแก่พรรคการเมือง สามารถส่งรายชื่อ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” เพื่อพิจารณาได้ไม่เกินสามรายชื่อ
นอกจากนี้ สมาชิกผู้แทนราษฎร 500 คน ได้จากระบบแบ่งเขต 350 เขต เขตละหนึ่งคน และแบบระบบบัญชีรายชื่ออีก 150 คน มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,214,120 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งราว 38,341,644 คน คิดเป็น 74.87%
ผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส.ไป 136 ที่นั่ง ส่วนพรรคพลังประชารัฐได้ที่นั่ง ส.ส.ไป 116 ที่นั่ง แต่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ส่งผลให้ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง
การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 27 ของประเทศไทย กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง และถือเป็นครั้งสำคัญที่ประชาชนจะมีส่วนกำหนดอนาคตประเทศไทย หากพร้อมใจกันออกมาใช้สิทธิกันอย่างพร้อมเพรียง
อ้างอิงข้อมูล :
-คณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th/ect_th
-สถาบันพระปกเกล้า www.kpi.ac.th
-พิพิธภัณฑ์รัฐสภา www.parliamentmuseum.go.th/index.html